วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิธีการเพื่อความปลอดภัย

วิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดในอนาคต

ดังนั้นวิธีการเพื่อความปลอดภัยจึงมีลักษณะที่แตกต่างจากโทษ ซึ่งอธิบายได้ว่า

โทษเป็นสภาพบังคับที่จะใช้แก่บุคคลภายหลังจากที่บุคคลนั้นได้กระทำความผิดแล้ว

ส่วนวิธีการเพื่อความปลอดภัยเป็นมาตรการที่นำมาใช้ก่อนที่จะมีการกระทำความผิดหรือมีการกระทำความผิดแล้วไม่ให้กลับมากระทำผิดอีก

1.กักกัน
การกักกันเป็นการป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำผิดที่ติดนิสัย ซึ่งมาตราการนี้จะทำให้บุคคลที่เคยกระทำความผิดมาแล้วไม่กล้าที่จะกระทำผิดซ้ำอีกเพราะเกรงกลัวว่าจะต้องถูกกักกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าปรากฏว่าหากผู้กระทำผิดติดนิสัย กระทำผิดซ้ำอีกได้กระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งอีกภายใน 10 ปี ศาลอาจถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย บุคคลนั้นอาจถูกกักกันได้

2.ห้ามเข้าเขตกำหนด
เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษแล้ว ศาลเห็นสมควรว่า ผู้กระทำความผิดมีพฤติกรรมโน้มเอียงในการกระทำผิดในบางพื้นที่ ศาลอาจสั่งห้ามเข้าเขตที่กำหนดหลังพ้นโทษแล้วได้ ซึ่งมาตรการนี้เป็นการป้องกันให้บุคคลนั้นไม่ให้เข้าไปกระทำผิดในเขตนั้น ๆ อีก

3.เรียกประกันทัณฑ์บน
กรณีที่ศาลไม่ได้ลงโทษผู้ถูกฟ้อง แต่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ถูกฟ้องน่าจะก่อเหตุร้าย ศาลสามารถสั่งให้ทำทัณฑ์บนได้ มาตรการนี้เป็นการป้องกันผู้ที่มีความประพฤติโน้มเอียงที่จะประกอบอาชญากรรม ทำให้ผู้ที่มีความประพฤติโน้มเอียงนั้นไม่กล้าลงมือกระทำผิด เพราะเกิดความยับยั้งชั่งใจ

4.คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล
บุคคลบางประเภทมีสภาพอาจจะกระทำผิดได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป อาจมีสาเหตุมาจากสภาพร่างกายและจิตใจหรือติดยาเสพติดให้โทษ และเพื่อเป็นการป้องกันให้บุคคลนั้นไม่ให้เข้าไปกระทำผิด ศาลอาจจะส่งตัวไปคุมไว้ในสถานพยาบาลเพื่อบำบัดรักษาให้บุคคลนั้นมีสภาพร่างกายและจิตใจเป็นปกติ
ตัวอย่าง นายเอกชอบดื่มเหล้าขาวเป็นอาจิณ และทุกครั้งที่ดื่มเหล้าขาว นายเอกจะทำร้ายร่างกายบิดา มารดาตนเองเป็นอาจิณ เช่นนี้ศาลอาจจะส่งตัวไปคุมไว้ในสถานพยาบาลเพื่อบำบัดรักษาอาการเหล้าได้

5.ห้ามการประกอบอาชีพบางอย่าง
เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษและเห็นว่าผู้นั้นมีสภาพอาจจะกระทำผิดได้ง่ายเพราะการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพบางอย่าง ศาลอาจจะห้ามบุคคลดังกล่าวประกอบอาชีพหรือวิชาชีพเพื่อป้องกันให้ไม่มีโอกาสได้กลับมากระทำผิดเช่นนั้นได้อีก
ตัวอย่าง นายโทมีอาชีพเป็นเจ้าของโรงงานผลิตลูกชิ้น ได้ผลิตลูกชิ้นที่ใส่สารบอแรกซ์ ทำให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพอนามัยของประชาชน พฤติการณ์เป็นการกระทำผิดโดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพผลิตผลิตลูกชิ้น ซึ่งหากให้นายโทประกอบอาชีพผลิตลูกชิ้นอีก ก็อาจกลับมากระทำผิดผลิตลูกชิ้นที่ใส่สารบอแรกซ์ เช่นนี้ จึงขอให้ศาลสั่งห้ามประกอบอาชีพผลิตลูกชิ้น

ไม่มีความคิดเห็น: