วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ประกาศคณะปฏิวัติเป็นกฎหมายหรือไม่

พิจารณาจากคำพิพากษาฎีกาด้านล่างครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๖๒/๒๕๐๕

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองว่าร่วมกันกระทำผิดคดีนี้ในชั้นไต่สวน ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ ๒ ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้ยกฟ้อง คดีจึงดำเนินมาโดยมี ร.ต.อ.เสนีย์ตกเป็นจำเลยแต่ผู้เดียว โดยโจทก์ฟ้องว่าบังอาจกลั่นแกล้งจับกุมโจทก์มากักขังไว้ ๒๗ วัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๓๑๐

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่จับโจทก์ โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาแกล้งทั้งจำเลยไม่ได้ทำให้โจทก์เสียเสรีภาพ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า

เมื่อใน พ.ศ.๒๕๐๑ คณะปฏิวัติ ได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทย ได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์
จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร หรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้นประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๑ ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้ จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ทำการจับกุมควบคุมโจทก์ได้โดยชอบ ฎีกาโจทก์ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน


------------------------------------------------------------------------------------

ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่า ประกาศคณะปฎิวัติเป็นกฎหมายครับ

อย่างไรก็ตาม ดูข้อสังเกตจากท่านมานิตย์ จิตรจันทร์กลับ (อดีตผู้พิพากษา) ได้ให้ความเห็นไว้น่าสนใจไว้ดังนี้

"ขอให้สังเกตว่า ศาลฎีกาพิพากษาคดีในขณะที่ประเทศไทยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหาร ที่มีหัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นประมุข ขอให้สังเกตข้อความที่ขีดเส้นใต้ไว้ ความว่า “จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้

คำว่า “การปกครองในลักษณะเช่นนั้น” จึงหมายถึง “การปกครองในระบอบเผด็จการ มิได้หมายความถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแน่นอน” ซึ่งเป็นศิลปะในการใช้ถ้อยคำและข้อความในคำพิพากษา"

ไม่มีความคิดเห็น: