วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ของหมั้น กับ สินสอด

ของหมั้น กับ สินสอด เป็นคำศัพท์ทางกฎหมายที่ท่านผู้อ่านอาจพบเจออยู่เสมอ ๆ ผมจึงหยิบยกคำสองคำขึ้นมาเพื่อเก็บตกความรู้ทางกฎหมายของท่าน

-------------------------------------------------------------------------------------
ของหมั้น ได้แก่ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายให้แก่หญิงคู่หมั้น เพื่อเป็นหลักฐานการหมั้นและประกันว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

ผู้ที่ทำการหมั้นมิได้จำกัดเฉพาะผู้ที่เป็นคู่หมั้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงบุคคลอื่น ๆ ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับชายหรือ หญิงคู่หมั้นด้วย เช่น บิดามารดา ผู้ปกครอง

หากบุคคลผู้ทำการหมั้นมิใช่ชายหญิงคู่หมั้นแล้ว การหมั้นจะผูกพันเฉพาะผู้ที่ทำการหมั้นเท่านั้นจะผูกพันชายหรือหญิงต่อเมื่อชายหญิงคู่หมั้นได้ตกลงยินยอมในการหมั้นนั้นด้วย

การหมั้นจะใช้บังคับได้ต่อเมื่อมีการส่งมอบของหมั้นให้แก่หญิง ถ้าไม่มีการส่งมอบของหมั้นแม้จะมีการหมั้นตามจารีตประเพณีของการหมั้น การหมั้นก็ไม่สมบูรณ์จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ (จะฟ้องร้องเรียกให้ฝ่ายชายส่งมอบของหมั้นไม่ได้ หรือจะเรียกค่าทดแทนในกรณีที่มีการผิดสัญญาหมั้นไม่ได้)ซึ่งของหมั้นนั้นจะมีมูลค่าเท่าใดก็ได้ขอเพียงให้มีการให้ของหมั้นแก่หญิงคู่หมั้นก็เป็นการเพียงพอ

ของหมั้นเมื่อมีการให้แก่หญิงแล้วย่อมตกเป็นสิทธิแก่หญิงทันที นอกจากนี้ของหมั้นก็ไม่ถือว่าเป็นสินสมรสด้วย

ของหมั้นถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ จะต้องส่งมอบ ให้หญิงทันที ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ จะต้องจดทะเบียนโอนด้วย

การหมั้นที่สมบูรณ์ย่อมนำไปสู่การสมรส

แต่ในกรณีที่การสมรสไม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรจะบังคับให้มีการสมรสไม่ได้

ซึ่งกรณีนี้เป็นสิ่งที่การหมั้นหรือสัญญาหมั้นแต่ต่างจากสัญญาอื่นๆซึ่งสามารถบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ แม้ว่าจะไม่สามารถบังคับให้สมรสไม่ได้ แต่ยังมีผลต่อของหมั้นซึ่งฝ่ายชายได้ให้แก่หญิงคู่หมั้นด้วยว่าหญิงนั้นจะต้องคืนของหมั้นให้แก่ชาย ถ้าหญิงคู่หมั้นไม่ย่อมสมรสโดยไม่มีเหตุอันสมควร(เท่ากับผิดสัญญาหมั้น)

แต่ในกรณีดังต่อไปนี้หญิงคู่หมั้นไม่ต้องคืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายชาย เช่นชายคู่หมั้นผิดสัญญาหมั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือต่างฝ่ายต่างละเลยไม่นำพาต่อการจดทะเบียน จะถือว่าหญิงคู่หมั้นผิดสัญญาไม่ได้

-------------------------------------------------------------------------------------

สินสอด หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส โดยสินสอดนั้นจะส่งมอบเมื่อใดก็ได้

อย่างไรก็ตาม หากว่าเป็นทรัพย์สินที่ให้เพื่อ ขอขมาบิดามารดาของฝ่ายหญิงที่ตนล่วงเกินลูกสาวของเขา ทรัพย์สินนั้นไม่ใช่สินสอด แม้ต่อมาภายหลังไม่มีการสมรสชายจะเรียกคืนไม่ได้ เพราะสิ่งของที่ให้กันนั้นกฎหมายไม่ถือว่าเป็นสินสอด

ในกรณีดังต่อไปนี้ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้ มีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1.ถ้าไม่มีการสมรสเกิดขึ้นโดยเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง เหตุที่ว่าทำให้ชายไม่สมควร หรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น หรือ
2.ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ

-------------------------------------------------------------------------------------

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

แล้วอย่างทาทากะเปรมละค่ะ

สินสอด-ของหมั้นจะเป็นอย่างไรค่ะ