วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด (Volenti non fit injuria)

“ความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด” นั้นเป็นหลักกฎหมายทั่วไป มีความหมายที่บุคคลซึ่งยอมต่อการกระทำอย่างหนึ่ง หรือบุคคลที่เข้าเสี่ยงภัยยอมรับความเสียหาย จะฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำหรือความเสียนั้นมิได้ และความยินยอมทำให้ผู้กระทำความเสียหายไม่ต้องรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น และถือว่าไม่มีการละเมิดเกิดขึ้นเลยทีเดียว



ก. ยอมให้ ข. ชกต่อยที่บริเวณใบหน้า เพื่อแสดงความแข็งแรงของ ก. ปรากฏว่าฟันของ ก. หักหลุดออกมา 1 ซี่ ก. จะเรียกค่าเสียหายจาก ข. อ้างว่าไม่รู้ว่าการให้ ข. ชก ฟันจะหลุดออกมา จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่


ก. ยอมให้ ข. ชกต่อยแล้ว เป็นความยินยอมของ ก. ก. จะอ้างว่าไม่รู้ว่าการให้ ข. ชกต่อย จะทำให้ฟันหักหลุดออกมาไม่ได้ การที่ ข. ชก ก. ไม่เป็นละเมิด



************** ข้อสังเกตสำคัญ ******************

อย่างไรก็ตาม ความยินยอมที่ขัดต่อกฎหมาย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้กระทำไม่อาจยกขึ้นมาเพื่อยกเว้นความผิดทางอาญาได้

ตัวอย่าง นายเอกเพิ่งสักยันต์มาต้องการลองของ นายเอกจึงท้าให้นายโทใช้ปืนยิงตน 3 นัด เมื่อนายโทใช้ปืนยิงนายเอก ปรากฏว่า เพียงแค่นัดแรก นายเอกก็ตายสนิท เช่นนี้ นายโทต้องรับผิดทางอาญาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา อย่างไรก็ตาม ในทางแพ่งนั้น ทายาทของนายเอกไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ เป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ความยินยอมไม่ทำให้การนั้นเป็นละเมิด

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การแบ่งแยกสาขาของกฎหมาย : เอกชนและมหาชน

1.ความคิดเรื่องการแบ่งแยกสาขาของกฎหมายออกเป็น กฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชนมีมาตั้งแต่สมัยโรมัน


2.ความคิดเรื่องการแบ่งแยกสาขาของกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชน และกฎหมายมหาชน เห็นได้ชัดในประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป(ระบบ civil law หรือระบบประมวลกฎหมาย)


3.ประเทศอังกฤษ(ระบบ common law หรือระบบจารีตประเพณี) ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายโรมันน้อย และประกอบกับเหตุอื่นๆ อีกหลายเหตุจึงไม่ยอมรับหลักการแบ่งแยกสาขาของกฎหมายออกเป็นกฎหมายเอกชน และกฎหมายมหาชนเด็ดขาดจากกัน


สรุปได้ว่า ระบบ civil law มักจะมีแนวคิดในการแบ่งกฎหมายออกเป็น เอกชน และมหาชน ส่วนระบบ common law จะไม่มีแนวคิดในการแบ่งกฎหมายออกเป็น เอกชน และมหาชน

การได้มาซึ่งทรัพย์สินไม่มีเจ้าของ

หลักกฏหมาย

1.ถ้าเจ้าของสังหาริมทรัพย์เลิกครอบครองทรัพย์ด้วยเจตนาสละกรรมสิทธิ์ไซร้ ท่านว่าสังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีเจ้าของ

2.บุคคลอาจได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แห่งสังหาริมทรัพย์อันไม่มีเจ้าของโดยเข้าถือเอา เว้นแต่การเข้าถือเอาต้องห้ามด้วยกฎหมาย หรือฝ่าฝืนสิทธิของบุคคลอื่นที่จะเข้าถือเอาสังหาริมทรัพย์นั้น


คำถาม

นายสมชายทะเลาะกับแฟนสาวและโกรธที่แฟนสาวคืนแหวนทองซึ่งตนให้เป็นของขวัญจึงขว้างแหวนทองนั้นทิ้งไปในกองขยะแล้วจากไป สมศรีเห็นเหตุการณ์จึงเข้าไปค้นหาจนพบแหวนทองนั้น สุดสวยอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเห็นว่าแหวนนั้นสวยมากจึงขอซื้อ สมศรีเกรงว่าเก็บไว้อาจมีปัญหายุ่งยากจึงขายแหวนทองนั้นให้สุดสวยไป ในวันรุ่งขึ้น สมชายนึกเสียดายแหวนทองนั้นจึงกลับมาหาที่เดิมและทราบความจริงว่าสุดสวยเป็นคนรับซื้อแหวนนั้นไป สมชายจึงตามไปทวงแหวนคืนจากสุดสวย ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าสุดสวยจะมีข้อต่อสู้อย่างไรหรือไม่


แนวคำตอบ

ตาม ตามปัญหา สมชายทะเลาะกับแฟนสาวและโกรธที่แฟนสาวคืนแหวนทองซึ่งตนให้เป็นของขวัญจึงขว้างแหวนทองนั้นทิ้งไปในกองขยะ ถือได้ว่าสมชายได้เลิกครอบครองสังหาริมทรัพย์ด้วยเจตนาสละกรรมสิทธิ์แล้ว แหวนทองนั้นจึงเป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของตามหลักกฎหมายข้อที่ 1

สมศรีเข้าไปค้นหาจนพบแหวนทองนั้น จึงถือได้ว่าสมศรีได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แห่งแหวนทองนั้นซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์อันไม่มีเจ้าของ โดยเข้าถือเอา ตามหลักกฎหมายข้อ 2. สุดสวยเป็นผู้รับซื้อแหวนทองนั้นจากสมศรีผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ สุดสวยจึงได้กรรมสิทธิ์ในแหวนทองนั้นโดยชอบ

ฉะนั้น สุดสวยจึงมีข้อต่อสู้ตามหลักกฎหมายดังกล่าว

ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา

ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา
1.กฎหมายอาญาต้องมีบทบัญญัติความผิดและบทลงโทษไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดแจ้งและแน่นอน
2.กฎหมายอาญาต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด
3.กฎหมายอาญาจะย้อนหลังให้ผลร้ายแก่ผู้กระทำ โดยบัญญัติเป็นความผิดหรือเพิ่มโทษในภายหลังมิได้

อธิบายดังนี้

กฎหมายอาญาต้องมีบทบัญญัติโดยชัดแจ้ง

กฎหมายอาญาจะต้องมีบทบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยบัญญัติความผิดและโทษไว้ในขณะกระทำ และบทบัญญัตินั้นต้องชัดเจนปราศจากการคลุมเครือมิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 2 ที่ว่าบุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำการนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้นต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

การใช้บังคับกฎหมายอาญานั้น จะบัญญัติการกระทำที่ที่เป็นความผิดโดยไม่มีบทกำหนดโทษ หรือกำหนดบทลงโทษโดยไม่บัญญัติความผิดไว้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

การใช้บังคับกฎหมายอาญานั้น จะบัญญัติการกระทำที่เป็นความผิดโดยไม่มีบทกำหนดโทษ หรือกำหนดบทลงโทษโดยไม่บัญญัติความผิดไม่ได้ เพราะการลงโทษเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลโดยตรงหากให้ผู้อำนาจผู้บังคับกฎหมายกำหนดโทษได้เอง หรือลงโทษเสียก่อนจึงกำหนดความผิดภายหลัง ก็จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจได้โดยง่าย ซึ่งจะเป็นผลให้กระบวนการยุติธรรมเบี่ยงเบนไป และประชาชนก็จะขาดหลักประกันในสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล เช่นนี้ย่อมเป็นที่เสียหายต่อความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและสังคมโดยรวม ฉะนั้นลักษณะการใช้บังคับกฎหมายจึงถือหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ไม่มีกฎหมาย” โดยเคร่งครัด

กฎหมายอาญาต้องมีตีความโดยเคร่งครัด

กฎหมายบัญญัติการกระทำใดเป็นความผิดและต้องรับโทษในทางอาญาแล้ว ต้องถือว่าการกระทำนั้นๆ เท่านั้นที่เป็นความผิดและผูกระทำถูกลงโทษจะรวมถึงการกระทำอื่นๆด้วยไม่ได้ อย่างไรก็ดีในบางกรณีการตีความตามตัวอักษรแต่เพียงอย่างเดียว ยังไม่อาจทำให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยนอกจากนี้ การตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัดดังกล่าว มีความหมายเฉพาะการเคร่งครัดในด้านที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำเท่านั้น มิใช่ในทางที่จะเป็นโทษแก่ผู้กระทำ

ในการตีความกฎหมายอาญานั้น จะนำหลักการเทียบกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง (Analogy) มาใช้ได้หรือไม่เพียงใด
ในการตีความกฎหมายอาญานั้น จะนำหลักการเทียบกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง มาใช้บังคับให้เป็นผลร้ายแก่ผู้กระทำมิได้ หลักการเทียบเคียงนั้น ใช้เฉพาะในกฎหมายแพ่งดังที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 อย่างไรก็ดีหลักการเทียบเคียงดังกล่าวอาจนำมาใช้เพื่อเป็นคุณหรือประโยชน์แก่ผู้กระทำได้


กฎหมายอาญาจะย้อนหลังให้ผลร้ายมิได้

กฎหมายอาญา จะย้อนหลังเพื่อลงโทษมิได้ กล่าวคือในเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ในขณะกระทำ จึงใช้บังคับกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังย้อนหลังกลับไปให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และลงโทษบุคคลผู้กระทำนั้นมิได้

ในขณะกระทำมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ต่อมามีกฎหมายใหม่บัญญัติเพิ่มโทษการกระทำดังกล่าวนั้นให้หนักขึ้น หรือเพิ่มอายุความแห่งโทษหรืออายุความแห่งการฟ้องร้องผู้กระทำผิดนั้นให้ยาวยิ่งขึ้น จะนำกฎหมายใหม่ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำมิได้ ในกรณีเช่นนี้จะต้องนำกฎหมายที่มีอยู่เดิมใช้บังคับแก่ผู้กระทำผิด

อย่างไรก็ดีการใช้บังคับกฎหมายอาญาอาจย้อนหลังเป็นผลดีได้ และวิธีการเพื่อความปลอดภัยมิใช่โทษทางอาญา จึงใช้บังคับย้อนหลังได้

วันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2552

คำถามน่าสนใจเกี่ยวกับทรัพย์

ก. ทำสัญญาซื้อรถยนต์คันหนึ่งจาก ข. โดยมิได้มีข้อตกลงเกี่ยวกับเครื่องเสียงที่ติดตั้งอยู่ในรถคันดังกล่าว เมื่อถึงกำหนดเวลาส่งมอบ ข. จะถอดเครื่องเสียงนั้นออกก่อนส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าว แต่ ก. ไม่ยินยอมโดยอ้างว่าเครื่องเสียงติดตั้งอยู่ในรถยนต์ย่อมเป็นอุปกรณ์ของรถยนต์ ข. จึงต้องส่งมอบเครื่องเสียงนั้นให้แก่ตนด้วย ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าข้ออ้างของ ก. รับฟังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด


แนวคำตอบ

ตาม ปพพ. มาตรา 147 อุปกรณ์หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยปกตินิยมเฉพาะถิ่น หรือโดยเจตนาชัดแจ้งของเจ้าของทรัพย์ที่เป็นประธาน เป็นของใช้ประจำอยู่กับทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นอาจิณ เพื่อประโยชน์แก่การจัดการ ดูแล ใช้สอย หรือรักษาทรัพย์ที่เป็นประธาน และเจ้าของทรัพย์ได้นำมาสู่ทรัพย์ที่เป็นประธาน โดยการนำติดต่อหรือปรับเข้าไว้ หรือทำโดยประการอื่นใดในฐานะเป็นของใช้ประกอบทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น

อุปกรณ์ที่แยกออกจากทรัพย์ที่เป็นประธานเป็นการชั่วคราว ก็ยังไม่ขาดจากการเป็นอุปกรณีของทรัพย์ที่เป็นประธานนั้น

อุปกรณ์ย่อมตกติดไปกับทรัพย์ที่เป็นประธานเว้นแต่จะมีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น

ตามปัญหาเครื่องเสียงที่ติดตั้งอยู่ในรถคันดังกล่าว แม้จะเป็นของใช้ประจำอยู่ในรถยนต์นั้น แต่ก็เป็นเพียงทรัพย์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของรถยนต์มิใช่เพื่อประโยชน์แก่การที่จะจัด ดูแล ใช้สอย หรือรักษารถยนต์นั้น เครื่องเสียงที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์จึงมิใช่อุปกรณ์ของรถยนต์ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 147 วรรคแรก ดังกล่าว เครื่องเสียงมิใช่อุปกรณ์ของรถยนต์จึงไม่ตกติดไปกับรถยนต์ ตามมาตรา 147 วรรคสาม ดังกล่าว ข. จึงไม่ต้องส่งมอบเครื่องเสียงนั้นให้ ก.

ฉะนั้นข้ออ้างของ ก. จึงรับฟังไม่ได้ตามเหตุผลดังกล่าว