วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา

ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา
1.กฎหมายอาญาต้องมีบทบัญญัติความผิดและบทลงโทษไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดแจ้งและแน่นอน
2.กฎหมายอาญาต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด
3.กฎหมายอาญาจะย้อนหลังให้ผลร้ายแก่ผู้กระทำ โดยบัญญัติเป็นความผิดหรือเพิ่มโทษในภายหลังมิได้

อธิบายดังนี้

กฎหมายอาญาต้องมีบทบัญญัติโดยชัดแจ้ง

กฎหมายอาญาจะต้องมีบทบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร โดยบัญญัติความผิดและโทษไว้ในขณะกระทำ และบทบัญญัตินั้นต้องชัดเจนปราศจากการคลุมเครือมิฉะนั้นจะใช้บังคับมิได้ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 2 ที่ว่าบุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำการนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดนั้นต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย

การใช้บังคับกฎหมายอาญานั้น จะบัญญัติการกระทำที่ที่เป็นความผิดโดยไม่มีบทกำหนดโทษ หรือกำหนดบทลงโทษโดยไม่บัญญัติความผิดไว้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

การใช้บังคับกฎหมายอาญานั้น จะบัญญัติการกระทำที่เป็นความผิดโดยไม่มีบทกำหนดโทษ หรือกำหนดบทลงโทษโดยไม่บัญญัติความผิดไม่ได้ เพราะการลงโทษเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลโดยตรงหากให้ผู้อำนาจผู้บังคับกฎหมายกำหนดโทษได้เอง หรือลงโทษเสียก่อนจึงกำหนดความผิดภายหลัง ก็จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจตามอำเภอใจได้โดยง่าย ซึ่งจะเป็นผลให้กระบวนการยุติธรรมเบี่ยงเบนไป และประชาชนก็จะขาดหลักประกันในสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล เช่นนี้ย่อมเป็นที่เสียหายต่อความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองและสังคมโดยรวม ฉะนั้นลักษณะการใช้บังคับกฎหมายจึงถือหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ ไม่มีกฎหมาย” โดยเคร่งครัด

กฎหมายอาญาต้องมีตีความโดยเคร่งครัด

กฎหมายบัญญัติการกระทำใดเป็นความผิดและต้องรับโทษในทางอาญาแล้ว ต้องถือว่าการกระทำนั้นๆ เท่านั้นที่เป็นความผิดและผูกระทำถูกลงโทษจะรวมถึงการกระทำอื่นๆด้วยไม่ได้ อย่างไรก็ดีในบางกรณีการตีความตามตัวอักษรแต่เพียงอย่างเดียว ยังไม่อาจทำให้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยนอกจากนี้ การตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัดดังกล่าว มีความหมายเฉพาะการเคร่งครัดในด้านที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำเท่านั้น มิใช่ในทางที่จะเป็นโทษแก่ผู้กระทำ

ในการตีความกฎหมายอาญานั้น จะนำหลักการเทียบกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง (Analogy) มาใช้ได้หรือไม่เพียงใด
ในการตีความกฎหมายอาญานั้น จะนำหลักการเทียบกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง มาใช้บังคับให้เป็นผลร้ายแก่ผู้กระทำมิได้ หลักการเทียบเคียงนั้น ใช้เฉพาะในกฎหมายแพ่งดังที่มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 อย่างไรก็ดีหลักการเทียบเคียงดังกล่าวอาจนำมาใช้เพื่อเป็นคุณหรือประโยชน์แก่ผู้กระทำได้


กฎหมายอาญาจะย้อนหลังให้ผลร้ายมิได้

กฎหมายอาญา จะย้อนหลังเพื่อลงโทษมิได้ กล่าวคือในเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ในขณะกระทำ จึงใช้บังคับกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังย้อนหลังกลับไปให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และลงโทษบุคคลผู้กระทำนั้นมิได้

ในขณะกระทำมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ต่อมามีกฎหมายใหม่บัญญัติเพิ่มโทษการกระทำดังกล่าวนั้นให้หนักขึ้น หรือเพิ่มอายุความแห่งโทษหรืออายุความแห่งการฟ้องร้องผู้กระทำผิดนั้นให้ยาวยิ่งขึ้น จะนำกฎหมายใหม่ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำมิได้ ในกรณีเช่นนี้จะต้องนำกฎหมายที่มีอยู่เดิมใช้บังคับแก่ผู้กระทำผิด

อย่างไรก็ดีการใช้บังคับกฎหมายอาญาอาจย้อนหลังเป็นผลดีได้ และวิธีการเพื่อความปลอดภัยมิใช่โทษทางอาญา จึงใช้บังคับย้อนหลังได้

ไม่มีความคิดเห็น: